เนื้อหา

5D 28873 Edit

 

ตีพิมพ์ในนิตยสาร ออนคาเมร่า ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ.2553

อ่านบทความตอนที่ 1 ได้ ที่นี่

อ่านบทความตอนที่ 2 ได้ ที่นี่

คุณภาพของภาพสต็อก

          ภาพสต็อก หรือ Stock Photo มี “หน้าที่” หรือ “สถานะ” สำคัญอยู่ที่การเป็นภาพสำหรับนำไปใช้เพื่อการปรับแต่ง   หรือตัดต่อในการสร้างสรรค์ชิ้นงานอื่น ๆ เป็นหลัก เช่น การออกแบบโฆษณาสินค้า การสร้างโบรชัวร์ทั้งสำหรับการพิมพ์ปกติและสำหรับการส่งทางสื่ออิเลคทรอนิคส์ (เช่น ส่งทาง Email หรือ E-card เป็นต้น)  การนำไปประกอบเว็บไซต์  การออกแบบบรรจุภัณฑ์  เป็นต้น มีภาพสต็อกจำนวนไม่มากนักที่ผู้ซื้อนำไปใช้งานแบบไม่ผ่านการทำในลักษณะที่ว่ามา เช่น ซื้อไปเพื่อพิมพ์โปสการ์ดหรือโปสเตอร์ขายโดยใช้ภาพตามต้นฉบับเดิมล้วน ๆ 100โดยทั่วไปแล้ว ถึงแม้ว่า ลูกค้าจะซื้อภาพสต็อกไปเพื่อการนี้ แต่ก็มักจะต้องมีการไปปรับแต่งเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งเพี่อให้ได้คุณภาพของชิ้นงานตรงตามรูปแบบที่ต้องการเช่น เพิ่มหรือลดสีสัน คอนทราสต์ เป็นต้น

 

       

 

             ดังนั้น เมื่อภาพสต็อกมีหน้าที่หลักอยู่ที่การเป็นพื้นฐานให้กับงานสร้างสรรค์อื่น ๆ ภาพสต็อกจึงถือได้ว่ามีฐานะเป็น “วัตถุดิบ” ในกระบวนการผลิตชิ้นงานต่าง ๆ และคุณสมบัติที่ดีของภาพที่เป็นวัตถุดิบดังกล่าวก็คือ การที่สามารถนำไปปรับแต่งหรือตัดต่อเพิ่มเติมได้พอสมควร โดยที่ยังคงไม่สูญเสียคุณภาพมากเกินไป การที่ภาพสต็อกจะมีคุณภาพในระดับที่ว่านั้น ภาพจะต้องผ่านการวางแผนและจัดการมาเป็นอย่างดีในกระบวนการถ่ายและตกแต่งปรับปรุงภาพเบื้องต้นจากเราผู้เป็นช่างภาพสต็อก ไมโครสต็อกจะไม่รับภาพที่มีคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ (ซึ่งแต่ละที่มีมาตรฐานไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายและกลุ่มลูกค้าของพวกเขาเป็นสำคัญ) แม้ว่า รายละเอียดเรื่องเกณฑ์คุณภาพของภาพสต็อกจะแตกต่างกัน แต่พอจะสรุปเกณฑ์มาตรฐานทั่ว ๆ ไปที่ไมโครสต็อกแต่ละแห่งยึดถือได้ดังนี้

 

แสงและเงา

          สำหรับเรื่องแสง   ไมโครสต็อกทุกแห่งจะชอบภาพที่มีแสงสว่างใส  หรือเรียกกันง่าย ๆ   ว่าแสงที่  “เคลียร์”  สม่ำเสมอทั่วทั้งภาพมากกว่าแสงประเภทอื่น (แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องการเฉพาะแสงประเภทนี้แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นสภาพแสงที่มือใหม่ควรจะใช้เริ่มต้นในการส่งภาพ เพราะมีโอกาสผ่านได้ง่ายกว่า เมื่อมีความชำนาญแล้วค่อยส่งภาพที่แสงซับซ้อนแบบอื่น ๆ ต่อไป) แสงประเภทนี้จะช่วยเปิดเผยรายละเอียดของวัตถุหรือเนื้อหาหลักในภาพให้ชัดเจนเข้าใจง่าย นักถ่ายภาพบางคนเข้าใจว่า การถ่ายภาพให้มีน้ำหนักแสงสม่ำเสมอ ไม่เน้นส่วนมืด ส่วนสว่างอย่างชัดเจนแบบภาพสต็อกนี้ เป็นการถ่ายภาพที่ “หมู” หรือ “ง่าย” มาก แต่สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในการถ่ายภาพแนวสต็อกมาสักระยะ จะทราบดีกว่า การถ่ายภาพให้ เคลียร์ ชัด ใส ในรูปแบบภาพสต็อกนั้น เป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือและเทคนิคขั้นสูงไม่น้อยกว่าการถ่ายภาพในรูปแบบเล่นแสง เล่นเงาแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการถ่ายเพื่อใช้งานคนละลักษณะกันเท่านั้นเอง แม้แต่ผู้เขียนเอง ช่วงแรกที่เริ่มศึกษาสไตล์ของแสงในการถ่ายภาพสต็อกขาย ก็นึกยิ้มอยู่ในใจว่า “ถ่ายภาพแบบนี้ หมูมากสำหรับเรา” แต่พอถึงเวลาลงมือถ่ายจริงจึงได้ทราบว่า ไม่ว่าเราจะถ่ายภาพแบบไหน สไตล์ใด หากต้องการจะให้ภาพของเราดูดี โดดเด่น มีคุณภาพสูง ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องไม่ง่ายทั้งสิ้น วงการถ่ายภาพสต็อกเป็นสนามเปิด ไม่ปิดกั้นหรือจำกัดการลงแข่งขันด้วยฝีมือ ประสบการณ์ อุปกรณ์ ฯลฯ นักถ่ายภาพที่เพิ่งเริ่มฝึกหัดมาเพียงสองเดือน ก็สามารถส่งภาพไปประชันกับนักถ่ายภาพประสบการณ์ 20 ปีขึ้นไปได้ทันที เท่ากับว่า เราจะต้องลงสนามแข่งขันกับช่างภาพจำนวนมากในทุกระดับฝีมือจากทั่วโลก  ดังนั้น อะไรที่ ธรรมดา ก็จะไม่สามารถสู้กับคู่แข่งที่เก่ง ๆ ได้ในเวทีนี้ และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในการพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง นอกเหนือไปจากรายได้เป็นกอบเป็นกำที่จะได้รับจากการขายภาพถ่ายของเรา


 

          สำหรับนักถ่ายภาพสต็อกมือใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่ชอบถ่ายภาพในแนว “ศิลป์” เป็นหลัก ถ้าหากว่าหันมาสนใจถ่ายภาพสต็อกขาย เป็นเรื่องปกติที่ในช่วงแรก ๆ จะมีภาพที่ถูกปฏิเสธหรือ Rejected เป็นจำนวนมากจากไมโครสต็อก ด้วยเหตุผลหลัก ๆ สองสามข้อประมาณว่า  ภาพนี้ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด,  ภาพมีส่วนมืดหรือส่วนสว่างมากเกินไป, การให้แสงไม่ดี (poor lighting) หรือบางทีก็ไม่ได้ให้เหตุผลอื่น ๆ นอกจากประโยคที่ว่า “เราไม่ต้องการภาพนี้ในขณะนี้” เป็นต้น ซึ่งบางครั้งที่ภาพซึ่งถูกปฏิเสธนั้น เป็นภาพที่เคยชนะการประกวดมาแล้ว หรือเป็นภาพที่เคยได้รับการคัดเลือกไปจัดแสดงในนิทรรศการทางวิชาการ ในการแสดงภาพในโอกาสสำคัญ หรือจัดแสดงใน Art Gallery  มาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งทำให้นักถ่ายภาพประสบการณ์สูงหลายคนรู้สึกแปลกใจที่ภาพของตัวเองถูกปฏิเสธในช่วงแรก ๆ  แต่เมื่อได้ “ปรับ” แนวทางในการถ่ายภาพให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของภาพสต็อกแล้ว ด้วยพื้นฐานการถ่ายภาพที่ดี ก็ทำให้นักถ่ายภาพเหล่านั้นสามารถประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพสต็อกได้ไม่ยากนักดังนั้น แม้จะเป็นมือเก่าเพียงใดในการถ่ายภาพ แต่ยังไม่เคยถ่ายภาพในรูปแบบภาพสต็อก ควรใช้เวลาสักระยะในการศึกษาการถ่ายภาพในรูปแบบนี้ให้เข้าใจดีเสียก่อน การที่ภาพไม่ผ่านบ่อย ๆ จะทำให้เสียเวลาและเสียความรู้สึกไม่น้อย และหลาย ๆ คนที่ปรับความรู้สึกไม่ทัน อาจจะเสียความมั่นใจในตัวเองไปพักใหญ่เลยทีเดียว

                ส่วนเรื่อง เงา นั้น ไมโครสต็อกมักจะปฏิเสธภาพที่มีเงาประเภทหนึ่งคือ “เงาแข็ง” ที่อยู่ในภาพ เงาประเภทนี้มักจะเกิดขึ้นจากแสงอาทิตย์ แสงไฟ หรือแสงแฟลชซึ่งแรงมาก และส่องมากระทบโดยตรงบนวัตถุหรือองค์ประกอบต่าง ๆ ในภาพโดยปราศจากการหามุมที่เหมาะสม การกรองแสงหรือการทำให้แสงนุ่มนวลลงเสียก่อน โดยเฉพาะการส่งภาพไปสอบในไมโครสต็อกที่ต้องสอบด้วยเช่น iStockphoto หรือ Shutterstock การส่งภาพที่มีเงาแข็งจัดชัด ๆ อยู่ในภาพ จะมีโอกาสทำให้สอบไม่ผ่านสูงมาก แต่ถ้าเป็นแสงที่ผ่านการจัดการให้มีความนุ่มนวลในระดับหนึ่งแล้วก็ถือว่าใช้ได้ นักถ่ายภาพสต็อกจึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงเงาต่าง ๆ ที่จะปรากฏอยู่ในภาพ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ก็สามารถใช้โปรแกรมตกแต่งภาพช่วยได้บ้างตามความเหมาะสม

 

               

 

จุดรบกวนประเภทต่าง ๆ

          คำว่า “จุดรบกวน” มีหลายชนิด เช่น รอยเปื้อนฝุ่นบนชิ้นเลนส์หรือบนเซ็นเซอร์ของกล้อง, Hot Pixel, DeadPixel  เป็นต้น  ซึ่งจุดรบกวนในกลุ่มนี้ มักจะเกิดในตำแหน่งเดิม ๆ ของภาพ เมื่อเราสังเกตเห็นก็จัดการแก้ไข ไม่ว่าจะแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา เช่น ส่งกล้องหรือเลนส์ไปทำความสะอาด หรือซ่อม หรือเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นที่ทำให้เกิดจุดรบกวนนั้น หรือหากว่ายังไม่มีเวลาจัดการที่ต้นเหตุ ก็ต้องใช้โปรแกรมตกแต่งภาพ จัดการเอาออกไปให้หมด การมีจุดรบกวนประเภทที่ว่านี้อยู่ในภาพ แม้ว่าจะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ที่แทบสังเกตด้วยตาเปล่าในการดูตามปกติไม่เห็น แต่หากว่าส่งไปยังไมโครสต็อก น้อยมากที่ภาพจะผ่านการพิจารณา เนื่องด้วยในการตรวจภาพนั้น ไมโครสต็อกจะดูภาพทุกภาพบนจอขนาดใหญ่แบบ 100% (ความหมายเดียวกับคำว่า Full Size และ 1:1 โปรแกรมดูภาพและตกแต่งภาพแต่ละโปรแกรมจะเรียกไม่เหมือนกัน) ซึ่งจะทำให้เห็นรายละเอียดทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในภาพอย่างชัดเจนไม่ว่าสิ่งนั้นจะเล็กขนาดไหนก็ตาม

                จุดรวบกวนอีกประเภทหนึ่งที่สำคัญมากคือ Noise ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ทั้งในขั้นตอนการถ่ายภาพครั้งแรก และในกระบวนการปรับปรุงหรือตกแต่งภาพด้วยโปรแกรมตกแต่งภาพในภายหลัง ไมโครสต็อกทุกแห่งจะมีแนวทางเดียวกันสำหรับเรื่องนี้ คือไม่รับภาพที่มี Noise แม้จะเพียงเล็กน้อย ดังนั้น สำหรับภาพสต็อกแล้ว เรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุด

 

 

 

            Noise มักจะเกิดบ่อยครั้งในบริเวณที่เป็นส่วนมืดหรือส่วนเงาของภาพ นอกจากนี้ยังพบได้บ่อยครั้งในการถ่ายภาพที่มีพื้นที่สีเรียบ ๆ สม่ำเสมอกันแม้จะถ่ายภายใต้การตั้งค่าตามปกติก็ตาม เช่น บริเวณสีฟ้าของท้องฟ้า เป็นต้น แบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ Noise แบบ Luminance ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการใช้ ISO สูง กับแบบ Color (บางทีก็เรียก Chrominance) ซึ่งมักจะเกิดจากการใช้ความไวชัตเตอร์ต่ำในขณะถ่ายภาพ ส่วนในขั้นตอนการตกแต่งภาพนั้น สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิด Noise คือการเพิ่มแสงให้กับภาพ ไม่ว่าจะเพิ่มทั้งภาพแบบ Exposure หรือเพิ่มเฉพาะส่วนแบบ Brigthness, Fill Light  นอกจากนี้การปรับความเข้มหรือความอิ่มตัวของสีที่มากเกินไป ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิด Noise ได้เช่นกัน ดังนั้น ภาพทุกภาพที่ถ่ายหรือตกแต่งภายใต้เงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังที่กล่าวมา จะต้องตรวจสอบ Noise ให้ละเอียด  วิธีการตรวจสอบ Noise แบบง่าย ๆ คือการขยายภาพขึ้นมาดูในขนาด 100% และให้ความสำคัญกับพื้นที่บริเวณเงาและส่วนมืด รวมทั้งบริเวณสีที่มีการปรับเพิ่มในภาพนั้น ๆ

             หากว่ามี Noise ในภาพของเราวิธีการลดหรือเอาออกไปก็ต้องใช้โปรแกรมกำจัด Noise เอาออกไป ซึ่งมีทั้งโปรแกรมที่ต้องติดตั้งแยกต่างหากและโปรแกรมที่เป็นส่วนเสริมหรือ Plug-in อยู่ในโปรแกรม ตกแต่งภาพทั่วไป สำหรับตัวผู้เขียนเองนั้น จะใช้ตัวลด Noise ในโปรแกรม Lightroom เป็นหลักเพียงอย่างเดียว ซึ่งจากการทดลองเปรียบเทียบแล้ว พบว่าลด Noise ได้ผลดีโดยไม่ไปลดคุณภาพโดยรวมของภาพมากนัก (การลด Noise จะมีผลให้ภาพโดยรวมมีความเนียนเรียบมากขึ้นเล็กน้อย บางคนก็ชอบใช้กับภาพบุคคล เพราะจะทำผิวสวยขึ้น แต่สำหรับภาพที่ต้องการความคมชัดมาก ๆ ขอให้ใช้การลด Noise เท่าที่จำเป็น จะได้ไม่กระทบถึงคุณภาพโดยรวมของภาพทั้งหมด)

 

     

 

องค์ประกอบ

              การจัดองค์ประกอบสำหรับภาพสต็อกนั้น  มีทั้งที่เหมือนและไม่เหมือนกับการจัดองค์ประกอบแบบศิลปะการถ่ายภาพในแนวอื่นๆ  โดยทั่วไปเราสามารถนำเอากฎหรือทฤษฎีต่าง ๆ มาใช้ร่วมกันได้ เช่น กฎสามส่วน จุดตัดเก้าช่อง เส้นนำสายตา การใส่ฉากหน้าให้ภาพ การวางตำแหน่งวัตถุเพื่อเปรียบเทียบขนาดเล็กใหญ่ เป็นต้น ตามปกติแล้ว ภาพสต็อกส่วนหนึ่งจะมาจากภาพที่ช่างภาพได้ถ่ายภาพตามความชอบหรือความต้องการตามปกติของคนรักการถ่ายภาพทั่วไป ซึ่งจะมีองค์ประกอบที่สวยงามสมบูรณ์ตามแนวทางของศิลปะการถ่ายภาพอยู่แล้ว ภาพสต็อกที่สวยงามและขายดีจำนวนมาก ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการถ่ายเพื่อการขายตั้งแต่แรก เป็นการถ่ายเพื่อศิลปะหรือความพอใจเท่านั้น แต่เมื่อนำมาขายในภายหลัง ก็สามารถขายได้ดีในระดับหนึ่งเช่นกัน

                ภาพผลเงาะภาพด้านล่างนี้ เป็นภาพที่ถ่ายด้วยการจัดองค์ประกอบแบบพื้นฐานที่สุดแบบหนึ่งของการถ่ายภาพ ก็สามารถใช้งานในลักษณะภาพสต็อกได้ดีเช่นเดียวกัน สำหรับนักถ่ายภาพมือใหม่ที่เริ่มต้นเข้าสู่วงการถ่ายภาพสต็อก เราสามารถค้นหาภาพเก่า ๆ ที่เราถ่ายไว้ทั่ว ๆ ไปมาเริ่มต้นลองส่งเข้าไปขายได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปถ่ายภาพชุดใหม่ทั้งหมดมาส่งขายแต่อย่างใด การส่งภาพเก่า ๆ ไปแล้วได้รับการ Approved หรือผ่านบ้าง และถูก Rejected หรือไม่ผ่านบ้าง จะค่อย ๆ เป็นบทเรียนให้เราเริ่มจับแนวทางของไมโครสต็อกได้ถูกว่า พวกเขาชอบหรือต้องการภาพที่มีเนื้อหาอย่างไร หรือจัดองค์ประกอบอย่างไรบ้าง

 

 

 

                ภาพวิวทิวทัศน์ข้างทางที่ถ่ายด้วยกฎสามส่วนธรรมดา ๆ แบบนี้ก็สามารถเป็นภาพขายดีได้เช่นกัน ในบางสถานการณ์ถ้าหากว่า การจัดองค์ประกอบปกติทำให้ภาพดูดีหรือลงตัวอยู่แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องพยายามหามุมที่แปลกพิสดารให้กับภาพมากเกินไป ภาพที่ถ่ายด้วยกฎหรือทฤษฎีมาตรฐานทั่วไป จะมีข้อดีอยู่อย่างหนึ่งก็คือ เป็นภาพที่ “คนทั่วไป” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ มองแล้วเห็นความสวยงามได้ง่าย ๆ ตามความเคยชินจากการที่ได้เห็นภาพทำนองนี้อยู่บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ลูกค้าของไมโครสต็อกกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการตัดต่อภาพมากนัก และต้องการภาพที่พร้อมใช้งานในระดับหนึ่งแล้ว ภาพที่ถ่ายด้วยองค์ประกอบง่าย ๆ แบบนี้ ก็จะสามารถขายลูกค้ากลุ่มนี้ได้ อีกทั้งนอกจากส่งภาพแบบนี้ไปขายแล้ว เรายังสามารถนำไปแลกเปลี่ยนแบ่งปันให้คนอื่น ๆ ดู หรือนำไปใช้งานทั่ว ๆ ไปได้ตามปกติที่เคยเป็นมาอีกด้วย

 

 

                แต่ถ้าหากว่าต้องการจะถ่ายภาพเพื่อ “ขาย” จริง ๆ  ดูบ้าง ก็จะมีการจัดองค์ประกอบภาพบางแบบที่เป็นการจัดองค์ประกอบแบบภาพสต็อกอย่างแท้จริง ซึ่งนักถ่ายภาพทั่ว ๆ ไปที่ไม่ใช่ช่างภาพสต็อก น้อยมากที่จะจัดองค์ประกอบแบบนี้ เนื่องจากว่า มันอาจจะดูแล้วไม่ถูกต้องตามทฤษฎีการจัดองค์ประกอบในภาพแนวศิลป์หรือแนวประกวดทั่ว ๆ ไป หรือว่าดูแล้วมันขาด ๆ เกิน ๆ ไม่สวยงาม หรือไม่ก็ดูแล้วเหมือนกับจะยัง “ขาด” อะไรบางอย่างในภาพ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ภาพที่ดูเหมือนองค์ประกอบไม่ครบสมบูรณ์จำนวนมากในไมโครสต็อก กลับกลายเป็นภาพที่ขายดีระดับแนวหน้าเลยทีเดียว

                อย่างที่กล่าวแล้วในตอนต้นว่า ภาพสต็อกมีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการเป็นวัตถุดิบให้กับงานสร้างสรรค์อื่น ๆ ดังนั้น การจัดองค์ประกอบภาพโดยให้เหลือพื้นที่หรือช่องว่างสำหรับใส่บางสิ่งบางอย่างเพิ่มลงไปในภาพได้ จึงเป็นรูปแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมมากสำหรับภาพแนวนี้ การสร้างสรรค์งานใด ๆ ขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง ผู้ออกแบบ (ซึ่งเป็นลูกค้าของเรา) มักจะไม่นิยมใส่ภาพที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมตามสัดส่วนภาพเดิมลงไปตรง ๆ แบบเห็นมุมครบทั้งสี่ด้าน เพราะมันจะดูธรรมดาไปไม่ดึงดูดสายตาของผู้ดู ดังนั้นภาพสต็อกที่ดูเหมือนองค์ประกอบไม่ครบ เมื่อถูกเติมเต็มด้วยสิ่งอื่น เช่น ข้อความ โลโก้ ภาพประกอบอื่น ๆ ฯลฯ ก็จะกลายเป็นชิ้นงานหรือเป็นภาพที่สมบูรณ์ทันที

                ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนขึ้น จากภาพที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในภาพขายดีที่สุดตลอดกาล 10 อันดับแรกประเภทภาพถ่ายของ Shutterstock เป็นภาพที่ชื่อ Poppy Field จะได้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ภาพนี้ ถ้าหากว่า ตัดสินกันด้วยสายตาและความเห็นของนักถ่ายภาพที่ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับเรื่องภาพสต็อก หรือกรรมการตัดสินประกวดภาพทั่วไป หรือผู้มีหน้าที่คัดเลือกภาพไปจัดแสดงใน Art Gallery เชื่อว่าส่วนใหญ่จะให้ข้อวิจารณ์ในทางลบเกี่ยวกับเรื่ององค์ประกอบ แม้แต่ผู้อ่านบทความนี้ส่วนใหญ่ (รวมทั้งตัวผู้เขียนด้วย) ถ้าหากเราไม่เอาความเป็นภาพสต็อกเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเราไปเจอดอกป๊อปปี้ดอกนี้ เราคงไม่ถ่ายมันออกมาในลักษณะนี้อย่างแน่นอน เพราะองค์ประกอบของภาพ มันไม่ดึงดูสายตาเอาเสียเลย แต่เมื่อภาพนี้เป็นภาพสต็อก ก็กลับกลายเป็นภาพที่ขายดีอย่างถล่มทลายจนถึงขั้นติดอันดับภาพยอดนิยมตลอดกาลเลยทีเดียว

 

 

                ภาพถ่ายสต็อกของผู้เขียนเอง ก็มีหลายภาพที่ถ่ายในลักษณะการจัดองค์ประกอบที่ดูแตกต่างไปจากปกตินี้เช่น ภาพถ่ายเด็กทารกภาพนี้ ถ้าเป็นการดูภาพในมุมมองขององค์ประกอบภาพ “ทั่วไป” ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นภาพที่ “หนักขวา” อย่างแน่นอน แต่สำหรับในฐานะภาพสต็อกแล้ว ภาพนี้ถือเป็นภาพที่เหมาะสมแล้ว เนื่องจากพื้นที่ว่างนั้นจะใช้สำหรับการใส่ข้อความต่าง ๆ หรือภาพประกอบอื่น ๆ เช่น ภาพสินค้าหรือโลโก้ต่าง ๆ ของลูกค้าผู้ซื้อภาพของเราไปใช้งาน เป็นต้น

 

 

                อีกภาพหนึ่ง เป็นภาพดอกทานตะวันที่อยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ที่ต้องจ่ายค่าเข้าชมในอัตราสูงพอสมควร ถ้าหากว่าผู้เขียนถ่ายภาพนี้ก่อนหน้าที่จะขายภาพสต็อก ก็คิดว่าคงจะไม่จัดองค์ประกอบภาพแบบนี้ เพราะองค์ประกอบภาพมันดูแปลก ๆ อยู่สมควร แต่เมื่อเริ่มต้นถ่ายภาพขาย ทุกทั้งที่เราถ่ายภาพ เราจะถ่ายทั้งภาพแนวที่เราชอบ ถ่ายในแบบที่เราต้องการ ถ่ายให้สวยงามหรือมีศิลปะในแบบของเราส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเราจะถ่ายให้ออกมาในแนวภาพสต็อกเพื่อขาย ยืนยันได้ว่า  ในการเดินทางท่องเที่ยวไปกับครอบครัวครั้งหนึ่ง ๆ เมื่อก่อนนี้ ผู้เขียนจะได้ภาพสวย ๆ มาเก็บไว้ดูโดยต้องออกค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเองทุกบาททุกสตางค์ แต่ปัจจุบันนี้ ในการท่องเที่ยวพักผ่อน ไม่ว่าจะไปกับครอบครัว กับเพื่อนฝูงทุกครั้ง ผู้เขียนจะมีผู้ซื้อภาพจากทั่วโลก ช่วยกันสมทบเงินดอลล่าร์คนละเล็กละน้อยให้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ในบางสถานที่ที่ไป นอกจากจะได้ภาพสวยงามตามรูปแบบศิลปะทั่วไป หรือตามแบบที่ตัวเองชอบมาเต็มพิกัดแล้ว ยังได้ภาพสไตล์ภาพสต็อกมากอีกจำนวนหนึ่ง และอีกไม่กี่เดือนให้หลังเมื่อได้รวบรวมรายได้จากการขายภาพสถานที่นั้น ๆ แล้ว มีหลายครั้งที่พบกว่า ได้มากกว่าค่าใช้จ่ายที่เสียไปก็มี

 

 

                ภาพทิวทัศน์ทั่วไปหากต้องการจะถ่ายให้เป็นแนว “ภาพสต็อก” ก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องฉีกหนีออกไปจากกฎเกณฑ์เดิม ๆ ที่ถ่ายกันอยู่ตามปกติบ้างเท่านั้น สำหรับนักถ่ายภาพที่ไม่เคยถ่ายภาพสต็อกมาก่อน เริ่มแรกก็อาจจะไม่คุ้นเคยหรือทำใจลำบากบ้างกับการจัดองค์ประกอบภาพแบบนี้ เนื่องจากตามความเคยชินของเรา ภาพจะมีองค์ประกอบไม่ค่อยชินตา เลยกลัวว่าจะเป็นภาพที่ส่งไปแล้วไม่ผ่าน สำหรับเรื่องนี้ไม่ต้องกังวลใด ๆ เลย เพราะว่าผู้ที่ตรวจภาพของเรานั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดูภาพที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานในเชิงพาณิชย์ ไม่ใช่กรรมการตัดสินภาพสวยงามหรือเจ้าของ Art Gallery แต่อย่างใด อย่างเช่นภาพทิวทัศน์ชายทะเลภาพนี้ ผู้เขียนขอรับรองว่า เป็นการจัดองค์ประกอบแบบภาพสต็อกที่ถูกต้องแน่นอน หากส่งไปแล้วถูกปฏิเสธ ก็ต้องมาจากเหตุผลด้านคุณภาพอื่น  ๆ เช่น มี Noise มากเกินไป เป็นต้น แต่โอกาสที่จะถูกปฏิเสธเพราะเหตุผลด้านองค์ประกอบนั้นมีน้อยมาก ๆ ในทางตรงข้าม ถ้าหากส่งภาพนี้เข้าประกวดในการประกวดภาพทิวทัศน์ทั่วไป องค์ประกอบแบบนี้ แสงแบบนี้ ผู้เขียนก็มั่นใจว่า ต้องตกรอบแรกอย่างที่แน่นอนที่สุดเช่นเดียวกัน