เนื้อหา

5D 18699 Edit Edit 

ตีพิมพ์ในนิตยสาร ออนคาเมร่า ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ.2553

อ่านบทความตอนที่ 1 ได้ ที่นี่

การเตรียมภาพถ่ายสำหรับขายออนไลน์ในไมโครสต็อก

                ในตอนที่แล้วได้แนะนำเรื่องราวเกี่ยวกับหลักการในการขายภาพถ่ายออนไลน์ และแนะนำเว็บไซต์ตัวแทนขายภาพถ่ายออนไลน์ที่น่าสนใจไปแล้ว ในตอนนี้เราจะมาต่อกันในขั้นตอนของการจัดเตรียมอุปกรณ์และจัดเตรียมภาพถ่ายสำหรับการขายออนไลน์ดังนี้

อุปกรณ์และสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ในการขายภาพถ่ายออนไลน์

                        ในการเริ่มต้นเตรียมตัวสำหรับการขายภาพถ่ายออนไลน์ แม้ว่าหลาย ๆ อย่างจะเหมือนกับการถ่ายภาพตามปกติทั่วๆ ไป แต่มีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องจัดเตรียมเป็นพิเศษสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ คือ

 กล้องถ่ายภาพ

          กล้องที่ใช้ถ่ายภาพสต็อกขายออนไลน์นั้น คำถามยอดนิยมคำถามหนึ่งก็คือ “ใช้กล้องคอมแพ็คต์ได้หรือไม่” คำตอบคือ “ใช้ได้” กล้องที่ใช้ถ่ายภาพขาย มีคุณสมบัติสำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้ก็คือ ต้องเป็นกล้องที่ให้ขนาดของภาพไม่ต่ำกว่า 4 ล้านพิกเซล หรือ 4 เมกะพิกเซล (อ่านล้อมกรอบพิเศษเรื่อง “ขนาดภาพ”) เนื่องจากไมโครสต็อกมีการจำกัดขนาดภาพขั้นต่ำที่รับเอาไว้ โดยขนาด 4 ล้านพิกเซลเป็นขนาดที่สามารถใช้ส่งไปยังไมโครสต็อกชั้นนำทุกแห่งได้ ดังนั้น ในทางทฤษฎี กล้องที่ให้ภาพขนาดดังกล่าวได้ จึงสามารถใช้ถ่ายภาพขายได้ทั้งสิ้น มีนักถ่ายภาพขายออนไลน์จำนวนมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ใช้กล้องคอมแพ็คต์และกล้อง DSLR-Like (กล้องคอมแพ็คต์ที่ทำรูปทรงและคุณสมบัติบางอย่างให้เหมือนหรือคล้ายกล้อง DSLR)  ในการถ่ายภาพขาย อย่างไรก็ตาม ในการถ่ายภาพขายออนไลน์ให้ได้ผลในระดับสูง แนะนำให้ใช้กล้อง DSLR จะดีกว่า เนื่องจากคุณภาพโดยรวมของภาพจะสูงกว่ามาก ซึ่งจะทำให้ภาพมีโอกาสขายได้มากกว่า แต่สำหรับนักถ่ายภาพที่ยังไม่พร้อมจะซื้อกล้อง DSLR  หรือมีกล้องประเภทคอมแพ็คต์หรือ DSLR-Like อยู่แล้ว ก็สามารถนำมาใช้ถ่ายภาพขายได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องซื้อกล้องใหม่  เมื่อมีความชำนาญ รู้แนวทาง และมั่นใจว่าพร้อมจะลงทุนอุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพขายจริงๆ แล้ว ค่อยซื้อกล้อง DSLR ในภายหลังก็ได้

ภาพตัวอย่างของการใช้กล้องคอมแพ็คต์ในการถ่ายภาพสต็อกขาย ผลงานของสมาชิก www.stockphotothailand.com   ท่านหนึ่ง คือคุณ zirconicusso หรือคุณเพทาย จะเห็นว่า ด้วยฝีมือและมุมมองในการถ่ายภาพที่ดี แม้จะเป็นกล้องคอมแพ็คต์ แต่คุณภาพของภาพที่ได้นั้น สามารถสู้กล้อง DSLR ได้สบาย ๆ และเป็นภาพที่มียอดดาวน์โหลดสูงพอสมควรใน Shutterstock  เข้าชม Gallery ของคุณเพทายได้ที่ http://www.shutterstock.com/g/zirconicusso - ขอขอบคุณที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ

ภาพตัวอย่างของการใช้กล้องคอมแพ็คต์ในการถ่ายภาพสต็อกขาย ผลงานของสมาชิก www.stockphotothailand.com   ท่านหนึ่ง คือคุณ zirconicusso หรือคุณเพทาย จะเห็นว่า ด้วยฝีมือและมุมมองในการถ่ายภาพที่ดี แม้จะเป็นกล้องคอมแพ็คต์ แต่คุณภาพของภาพที่ได้นั้น สามารถสู้กล้อง DSLR ได้สบาย ๆ และเป็นภาพที่มียอดดาวน์โหลดสูงพอสมควรใน Shutterstock  เข้าชม Gallery ของคุณเพทายได้ที่ http://www.shutterstock.com/g/zirconicusso - ขอขอบคุณที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ

เลนส์

          สำหรับผู้ที่มีกล้อง DSLR อยู่แล้ว มีจำนวนมากใช้เลนส์ที่จัดเป็นชุดมาในกล่องตอนซื้อกล้องใหม่  หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า เลนส์คิท หรือ เลนส์ KIT ก็จะมีคำถามว่า เลนส์ประเภทนี้ใช้ถ่ายภาพขายได้หรือ คำตอบก็คือ ในเมื่อกล้องคอมแพ็คต์สามารถใช้ถ่ายภาพขายได้ เลนส์คิทก็สามารถใช้ได้อย่างแน่นอน แต่ถ้ามีงบประมาณพอจะซื้อเลนส์เกรดดีกว่าเลนส์คิทมาใช้ได้ก็ควรซื้อมาใช้ เพราะจะได้ภาพที่มีคุณภาพดีกว่า แม้ว่าไมโครสต็อกจะไม่ได้เอาเรื่องคุณภาพของอุปกรณ์มาเป็นกำแพงกั้นนักถ่ายภาพมือใหม่และมือสมัครเล่นที่ใช้อุปกรณ์ธรรมดา ๆ แต่ผู้ซื้อภาพก็มีสิทธิจะเลือกซื้อภาพที่มีคุณภาพซึ่งดูแล้วน่าจะดีกว่าไปใช้งาน ภาพที่มีเนื้อหาคล้าย ๆ กัน แต่ถ่ายจากกล้องและเลนส์คุณภาพสูง ย่อมมีโอกาสขายได้มากกว่าภาพจากเลนส์และกล้องธรรมดาทั่วไป ยกเว้นผู้ที่ใช้อุปกรณ์ธรรมดา แต่มีเทคนิคการถ่ายภาพที่ดีเยี่ยม รวมทั้งมีความสามารถถ่ายภาพที่มีเนื้อหาโดดเด่นและแตกต่างจริง ๆ ซึ่งหาไม่ได้จากนักถ่ายภาพอื่น ๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

                       

สมาชิกอีกท่านหนึ่งของ www.stockphotothailand.com คือคุณ Jannoon028  หรือคุณธีรวุฒิ มาสวัสดิ์ ใช้เลนส์คิทในการถ่ายภาพทั้งส่งสอบและส่งขายใน  Shutterstock  ภาพจากเลนส์คิทที่ออกมานั้น   ถ้าไม่บอกก็คงคิดว่าเป็นเลนส์เกรดกึ่งโปรขึ้นไปได้อย่างสบาย และที่สำคัญคุณธีรวุฒิบอกว่า ภาพนี้ มีดาวน์โหลดมาอย่างสม่ำเสมอ จัดอยู่ในกลุ่ม ภาพขายดี อีกด้วย  -  เข้าชม Gallery  ของคุณธีรวุฒิได้ที่ http://www.shutterstock.com/g/jannoon028- ขอขอบคุณที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ ”

              อุปกรณ์อื่น ๆ ที่ควรจะต้องมีคือ ขาตั้งกล้องคุณภาพดี ซึ่งเรามักจะต้องใช้เสมอในการถ่ายภาพสต็อก และขอแนะนำให้ใช้ทุกครั้งเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากความคมชัดของภาพ ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของภาพสต็อก ความสั่นไหวแม้เพียงเล็กน้อยก็จะมีผลเป็นอย่างมากต่อการพิจารณารับหรือไม่รับภาพของไมโครสต็อก ขาตั้งกล้องจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

คอมพิวเตอร์ +  ฮาร์ดดิสก์สำรองข้อมูล + โปรแกรมที่จำเป็นต้องใช้

        คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการขายภาพถ่าย ควรจะเป็นเครื่องที่มี Spec ค่อนข้างดี เพื่อให้ทำงานได้เร็ว เนื่องจากเราต้องทำงานกับไฟล์ภาพขนาดใหญ่จำนวนมาก ทั้งการเปิดดูภาพ การใช้โปรแกรมตกแต่งภาพ (บางครั้งใช้หลาย ๆ โปรแกรมไปพร้อม ๆ กัน) ดังนั้น คอมพิวเตอร์ยิ่งมีประสิทธิภาพสูงจะยิ่งทำให้งานของเราง่ายและรวดเร็วขึ้น ความจุของฮาร์ดดิสก์ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ควรใช้ฮาร์ดดิสก์ที่มีความจุสูงสุดเท่าที่เราจะสามารถหามาใช้ได้ และเนื่องจากภาพถ่ายเป็นทรัพย์สินอันมีค่ายิ่งสำหรับคนขายภาพออนไลน์ เมื่อเราเริ่มถ่ายภาพขาย ภาพถ่ายของเราจะมีมูลค่าสูงกว่าภาพที่เราถ่ายเก็บไว้เล่น ๆ หรือเป็นที่ระลึกเหมือนเมื่อก่อน จึงควรมีฮาร์ดดิสก์สำหรับสำรองภาพถ่ายของเราไว้เป็นสองชุดเสมอ และให้ถือว่า การสำรองข้อมูลนี้ เป็นข้อบังคับที่จำเป็นต้องทำอย่างเคร่งครัดเพื่อจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง

                โปรแกรมที่จำเป็นสำหรับคนขายภาพถ่ายก็มีโปรแกรมประเภทดูภาพ (เช่น ACDsee)  โปรแกรมจัดการภาพและตกแต่งภาพเบื้องต้น (เช่น Lightroom),  โปรแกรมตัดต่อและตกแต่งภาพระดับ Advance  (เช่น Photoshop), โปรแกรม FTP สำหรับส่งไฟล์ภาพขนาดใหญ่ไปยัง Sever ของไมโครสต็อก (เช่น Filezillar, FireFTP, CuteFTP )  โปรแกรม Web Browser สำหรับผู้ทำงานขายภาพออนไลน์ แนะนำให้ใช้ Mozilla Firefox  เนื่องจากเข้ากับระบบของไมโครสต็อกบางแห่งได้ดี ไม่ควรใช้ IE,  โปรแกรม Dictionary สำหรับการค้นหาคีย์เวิร์ดมาใส่ให้ภาพของเรา

 

อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

          สำหรับการขายภาพถ่ายออนไลน์ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก  ไม่แนะนำให้ใช้อินเตอร์เน็ตแบบชุด Kit ธรรมดา อินเตอร์เน็ตแบบผ่านโทรศัพท์มือถือ GPRS ก็ไม่เหมาะ แบบที่ดีที่สุดคืออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เน้นการ Upload  สูงสุดเท่าที่เราจะเลือกใช้ได้ เช่น Upload 1 Mb เป็นต้น  ส่วนความเร็วในการดาวน์โหลดนั้น แพ็คเกจอินเตอร์เน็ตปัจจุบันนี้ก็สูงมากพอสมควรอยู่แล้ว และเราไม่ได้เน้นในส่วนนี้มากนัก

ที่อยู่ อีเมล

          อีเมล เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการขายภาพออนไลน์  ไม่แนะนำให้ใช้อีเมลขององค์กรหรือบริษัทที่เราทำงานอยู่เนื่องจากส่วนใหญ่จะให้พื้นที่น้อย และเราอาจจะเปลี่ยนที่ทำงานในอนาคต รวมทั้งไม่แนะนำให้ใช้อีเมลของผู้ให้บริการรายเล็ก ๆ หรือผู้ให้บริการอีเมลในประเทศ ควรใช้อีเมลมาตรฐาน เช่น Hotmail, Gmail หรือ Yahoo จะดีกว่า เนื่องจากข้อมูลข่าวสารระหว่างเราและไมโครสต็อก รวมทั้งการรับเงินค่าขายภาพ จะมีอีเมลเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญที่สุด อีเมลที่มีระบบเสถียร มีพื้นที่เก็บข้อมูลจำนวนมาก  จะช่วยไม่ให้พลาดการติดต่อหรือข้อมูลข่าวสารที่สำคัญจากไมโครสต็อก

เอกสารระบุตัวตน

          ในการส่งภาพขายออนไลน์ เมื่อเราลงทะเบียนเป็นผู้ขายภาพ เนื่องจากเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงต้องมีการส่งเอกสารระบุตัวตนของเราไปยังไมโครสต็อก (จะมีช่องให้แนบไฟล์ภาพในตอนที่ลงทะเบียน) สำหรับเอกสารที่ใช้ยืนยันตัวตนที่มาตรฐานสากลที่สุดก็คือ Passport ที่ยังไม่หมดอายุ เอกสารอื่น ๆ ที่สามารถใช้ได้คือ ใบขับขี่สากล และบัตรประชาชนของไทยเรารุ่นใหม่ที่มีชื่อและนามสกุลของเราเป็นภาษาอังกฤษก็ใช้ได้กับไมโครสต็อกบางแห่ง แต่จะใช้ไม่ได้กับ Shutterstock (ที่นี่ต้องใช้ Passport อย่างเดียวเท่านั้น)  ดังนั้น หากคิดจะจริงจังกับการขายภาพถ่ายออนไลน์ ก็ควรไปทำ Passport เตรียมไว้ เพราะหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของการขายภาพในช่องทางนี้ ก็คือ Shutterstock นั่นเอง

บัญชี Paypal หรือ Moneybookers

          เมื่อเราขายภาพได้ ไมโครสต็อกจะส่งเงินมาให้เราได้สองช่องทาง คือทางเช็คเงินสด ซึ่งไม่เป็นที่นิยมกัน เนื่องจากช้าและยุ่งยาก กับทางผู้ให้บริการรับส่งเงินอิเลคโทรนิคส์ระหว่างประเทศ เช่น Paypal, Moneybookers เป็นต้น และโดยทั่วไป Paypal จะเป็นที่นิยมมากกว่า ก่อนการลงทะเบียนขายภาพ เราจะต้องไปเปิดบัญชี Paypal ให้เรียบร้อยทุกขั้นตอนเสียก่อน การลงทะเบียน Paypal นั้นไม่ยากนัก สามารถใช้ Google ค้นหาวิธีการได้อย่างละเอียด เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เราก็จะใช้เพียงอีเมลที่ได้ระบุไว้กับ Paypal  เท่านั้นในการรับเงินค่าขายภาพของเราจากไมโครสต็อก

ขนาดภาพ

คำว่า “ขนาดภาพ” ที่ไมโครสต็อกต้องการนั้น มีหน่วยในการเรียกสองแบบ มีความหมายเดียวกัน คือ ภาพขนาด.......ล้านพิกเซล และ/หรือ ภาพขนาด.......เมกะพิกเซล (MP)  คิดจากขนาดพิกเซลของภาพ กว้าง X  สูง ไม่ใช่คิดตามขนาดข้อมูลของไฟล์ภาพที่มีหน่วยเป็น MB หรือเมกะไบต์ เช่น ภาพขนาด 1,600 X 1,200Pixel เมื่อคูณออกมาแล้วได้เท่ากับ 1,920,000 Pixel เราเรียกว่า ภาพขนาด สองล้านพิกเซล (โดยประมาณ) และเมื่อหารด้วย 1,000,000 ก็ได้เท่ากับ 2 (ปัดเศษให้เป็นจำนวนเต็ม) เราก็เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า ภาพขนาด สองเมกะพิเซล (MP) ซึ่งมีความหมายเดียวกัน แต่ภาพขนาด สองล้านพิกเซล หรือ สองเมกะพิกเซลนี้ อาจจะมีขนาดข้อมูลในไฟล์ตั้งแต่ประมาณ 2 MB ไปจนถึงมากกว่า 10 MB ก็เป็นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนข้อมูลสีสัน รายละเอียดที่อยู่ในภาพตั้งแต่ตอนถ่าย รวมทั้งข้อมูลการปรับแต่งต่างๆ ที่มาทำเพิ่มภายในหลังในโปรแกรมตกแต่งภาพ)

การเตรียมภาพถ่ายสำหรับขายออนไลน์

          แม้ว่าสิ่งที่เราจะขายกันในไมโครสต็อกคือ “ภาพถ่าย” แต่ก็ไม่ใช่ว่าภาพถ่ายทุกภาพ หรือภาพอะไรก็ได้สามารถจะขายได้หมด ไมโครสต็อกแต่ละแห่งมี “เกณฑ์คุณภาพ” และ “แนวทาง” ในการรับภาพที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกลุ่มลูกค้าและนโยบายในการทำตลาดของแต่ละแห่งการส่งภาพเข้าไปขายในไมโครสต็อกนั้น ผู้ที่จะตัดสินว่า จะรับหรือไม่รับภาพใดไว้ขาย เรียกว่า “Inspector” หรือผู้ตรวจสอบภาพ ไมโครสต็อกทุกแห่งจะมีผู้ตรวจสอบภาพไว้คอยพิจารณาภาพทุกภาพที่ส่งเข้าไป ไม่ว่าภาพนั้นจะมาจากมือเก่าหรือมือใหม่ เพิ่งจะส่งภาพเป็นครั้งแรก ๆ หรือมีภาพอยู่แล้วเป็นหมื่น ๆ ภาพ ก็ต้องผ่านการตรวจสอบในมาตรฐานเดียวกัน (แม้จะมีช่างภาพภาพประเภทเช่น ช่างภาพแบบ Exclusive หรือช่างภาพที่ส่งภาพให้ไมโครสต็อกแห่งเดียวแบบผูกขาด จะได้สิทธิพิเศษในเรื่องจำนวนภาพที่ส่งได้ และค่าส่วนแบ่งค่าขายภาพจะสูงกว่า แต่เฉพาะการพิจารณาคุณภาพของภาพก็อยู่ภายในเกณฑ์เดียวกับช่างภาพทั่วไปทุกคน) และโดยทั่วไปแล้ว ภาพก็จะถูกนำไปขายคละเคล้าปะปนกันไป ขึ้นอยู่กับผู้ซื้อว่าจะเลือกซื้อหรือดาวน์โหลดภาพไหน  ดังนั้น ด้วยจำนวนภาพที่มากมายมหาศาลที่ถูกส่งมาจากทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง ไมโครสต็อกจึงต้องมีเกณฑ์คุณภาพขั้นต้นเป็นแนวทางให้ผู้ตรวจสอบภาพของตนได้ใช้ในการพิจารณารับภาพ เกณฑ์คุณภาพทั่วไปที่ใช้กับไมโครสต็อกได้ทุกแห่งก็คือ

 

ขนาดของภาพ

          ไมโครสต็อกแต่ละแห่งมีขนาดขั้นต่ำของภาพที่จะรับไม่เท่ากัน   iStockphoto    แม้จะเข้มงวดเรื่องคุณภาพ   แต่ก็ยินดีรับภาพที่มีขนาดต่ำสุดคือ  2  ล้านพิกเซลซึ่งถือเป็นไมโครสต็อกที่รับภาพขนาดเล็กที่สุด แต่มีไมโครสต็อกบางแห่ง เช่น 123rf รับเฉพาะภาพที่มีขนาดขั้นต่ำ 6 ล้านพิกเซล ดังนั้น ขนาดภาพที่สามารถส่งได้ทุกไมโครสต็อก จึงต้องเป็นขนาด 6 ล้านพิกเซลหรือใหญ่กว่า สำหรับขนาดสูงสุดนั้น แม้ในทางทฤษฎีจะมีบางแห่งจำกัดเอาไว้เช่นกัน แต่ก็ไม่มีปัญหาเพราะว่า ขนาดภาพในกล้องทั่ว ๆ ไปทุกรุ่นที่มีขายอยู่ในท้องตลาด สามารถใช้ส่งไปยังไมโครสต็อกทุกแห่งได้อย่างสบาย

          แม้ว่าขนาดภาพขั้นต่ำที่เราต้องมีคือ 6 ล้านพิกเซล แต่การมีภาพที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ ก็เป็นข้อได้เปรียบในการขาย ข้อเสียจะอยู่ที่ ภาพที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ จากกล้องรุ่นใหม่ ๆ จะทำให้ไฟล์ภาพโดยเฉลี่ยพลอยใหญ่ตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้เปลืองเนื้อที่เก็บภาพ รวมทั้งในขั้นตอนการตกแต่งภาพก็จะกินทรัพยากรของเครื่องคอมพิวเตอร์ค่อนข้างมาก ถ้าหากเครื่องไม่แรงและเร็วจริงจะเสียเวลามากกว่าปกติ เมื่อไมโครสต็อกรับภาพแล้ว ก็จะนำภาพนั้นไปแบ่งย่อยออกเป็นขนาดต่าง ๆ และขายในราคาที่แตกต่างกัน ภาพที่มีขนาดใหญ่จะได้เปรียบที่สามารถนำไปแบ่งออกเป็นหลาย ๆ ขนาดได้มากกว่า  ภาพขนาดใหญ่จะขายได้ราคาดีกว่า ผู้ซื้อ (โดยเฉพาะที่เป็นสมาชิกซึ่งสามารถดาวน์โหลดภาพได้ทุกขนาดในราคาเท่ากัน) ก็จะชอบเลือกดาวน์โหลดภาพที่มีขนาดใหญ่กว่าในกรณีที่มีเนื้อหาภาพเหมือนหรือคล้ายกัน ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว ภาพที่มีขนาดใหญ่จะได้เปรียบภาพที่มีขนาดเล็ก

               

ขนาดภาพต่าง ๆ ที่มีขายนั้น ช่างภาพจะส่งเป็นไฟล์แบบ JPG ขนาดสูงสุดเข้าไปเพียงอย่างเดียว

การแบ่งขนาดภาพและการแปลงเป็นไฟล์ TIFF  รวมทั้งการตั้งราคาขายเป็นหน้าที่ของไมโครสต็อกทั้งหมด

ชนิดของไฟล์ภาพ

                ไม่ว่าเราจะถ่ายภาพมาด้วยไฟล์ชนิดใดก็ตาม แต่ชนิดของไฟล์ภาพที่เราใช้ส่งไปขายยังไมโครสต็อกนั้น ต้องเป็นไฟล์ชนิด JPG อย่างเดียวเท่านั้น (ยกเว้นกรณีเป็นภาพที่วาดจากโปรแกรมประเภท Illustrator  จะแตกต่างออกไป ซึ่งจะกล่าวถึงในภายในหลัง) หากเข้าไปดูภาพที่ขายอยู่ในไมโครสต็อกจะเห็นว่า มีไฟล์ภาพแบบ TIFF ขายอยู่ด้วย ซึ่งไฟล์ชนิดนี้ ไมโครสต็อกจะเป็นผู้ทำหน้าที่แปลงให้เองจากไฟล์ JPG ที่เราส่งไป และไฟล์ JPG ที่ส่งไปนั้น จะต้องเป็นไฟล์ที่ไม่มีการลดหรือเพิ่มขนาดจากขนาดดั้งเดิมของกล้อง แม้ว่าในทางทฤษฎีจะทำการลดหรือเพิ่มขนาดได้เล็กน้อย แต่ไม่แนะนำให้ทำ เพราะจะมีผลกับการพิจารณารับหรือไม่รับภาพเป็นอย่างมาก ดังนั้น การบันทึก หรือ Save ภาพทุกขั้นตอนในการโอนย้ายภาพ ตกแต่งปรับปรุงภาพ จะต้องทำที่ระดับ 100% หรือระดับ 12 อันเป็นขนาดสูงสุดเท่านั้น

                การถ่ายภาพด้วยจุดประสงค์ในการนำไปขายออนไลน์ หากถ่ายด้วยไฟล์ประเภท RAW จะเหมาะกว่าถ่ายด้วยไฟล์แบบ JPG เนื่องจากโดยทั่วไปก่อนการอัปโหลดภาพไปขาย เรามักจะทำการตกแต่งปรับปรุงภาพในด้านต่าง ๆ เสียก่อน ภาพที่ถ่ายด้วยไฟล์ RAW จะมีความยืดหยุ่นในการรองรับการปรับแต่งต่าง ๆ ได้มากกว่าไฟล์ JPG  โดยเฉพาะในเรื่องของ White Balance  ถือเป็นจุดเด่นของไฟล์ RAW ซึ่งในกรณีถ่ายมาผิดพลาดหรือแม้แต่ถ่ายมาถูกต้องแล้วแต่อยากลอง “เล่น” กับค่า White Balance เพื่อผลพิเศษทางด้านสีสันที่แตกต่างออกไปก็สามารถทำได้โดยไม่กระทบกับคุณโดยรวมของภาพ เมื่อทำการปรับแต่งค่าต่าง ๆ จนพอใจแล้ว จึงค่อยบันทึกภาพนั้นในรูปแบบของไฟล์ JPG เพื่อส่งไมโครสต็อกต่อไป

ภาพสแน็ปช็อต Vs ภาพถ่ายสต็อก

          สำหรับนักถ่ายภาพที่สนใจการขายภาพถ่ายออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ มือสมัครเล่น หรือแม้แต่มืออาชีพบางท่านเมื่อได้ยินว่า ภาพแนวท่องเที่ยว ทิวทัศน์ ธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม ฯลฯ สามารถส่งขายในไมโครสต็อกได้ มีจำนวนไม่น้อยที่รีบกลับไปค้นหาภาพเก่า ๆ ที่เคยถ่ายเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ของตัวเองในการไปเที่ยว หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันก่อนหน้านี้ออกมาส่งขาย แต่ผลปรากฏว่า ภาพที่ส่งไปนั้น ถูกปฏิเสธหรือ Rejected  จำนวนมาก  ทำให้หลาย ๆ ท่านสงสัยว่า ภาพประเภทนี้ ขายได้จริงหรือไม่ ทำไมไมโครสต็อกจึงปฏิเสธภาพของเราเป็นจำนวนมากเช่นนี้

                ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของช่างภาพหรือนักถ่ายภาพทั่วไปก็คือ ยังไม่สามารถแยกความแตกต่างออกจากกันได้ระหว่างภาพที่เป็นภาพแนวท่องเที่ยว ทิวทัศน์ ธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม ฯลฯ ที่เป็น “ภาพสต็อก” ได้ด้วย กับภาพแนวดังกล่าวที่เป็นได้เพียง “ภาพสแน็ปช็อต” ทั่วไป ซึ่งไมโครสต็อกไม่รับไว้ขาย และทุกแห่งก็จะเน้นย้ำเสมอว่า อย่าส่งภาพแบบสแน็ปช็อต หรือภาพที่ถ่ายเล่นๆ ตามปกติโดยไม่มีแนวคิดแบบ “ภาพสต็อก” อยู่เบื้องหลัง การมองให้ออกว่า ภาพใดเป็นภาพสต็อก ภาพใดเป็นภาพสแน็ปช็อต ถือเป็นหัวใจหลักในการถ่ายภาพแนวนี้เพื่อส่งขายยังไมโครสต็อกเลยทีเดียว

                “ภาพสต็อก” เป็นภาพที่ลูกค้าผู้ดาวน์โหลดมักจะซื้อไปเพื่อนำไปใช้งานต่อในด้านใดด้านหนึ่งตามความต้องการ แนวความคิดสำหรับการใช้งานภาพสต็อกนั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายที่สุด น่าจะอยู่ในแผ่นพับ โบรชัวร์ ใบปลิวสำหรับประชาสัมพันธ์ หรือโฆษณาอะไรสักอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็เป็นภาพประกอบบทความในนิตยสารต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ภาพสต็อกมาเป็นวัตถุดิบ ภาพสต็อกมักจะไม่ถูกนำไปใช้งานแบบโดด ๆ โดยไม่ถูกตัดต่อเพิ่มเติม เหมือนภาพโปสเตอร์หรือโปสการ์ดทั่วไป (มีบ้างเหมือนกันที่ลูกค้าซื้อภาพไปเพื่อพิมพ์ขายในลักษณะนั้น แต่มีน้อยมาก) ดังนั้น ภาพสต็อกที่ดี ต้องมีการสื่อสารที่ดูแล้วเป็น “สากล” อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในภาพเสมอ ไม่ใช่ภาพที่ดูแล้วรู้สึกถึงความเป็น “ส่วนตัว” หรือเป็นความรู้สึกประทับใจของผู้ถ่ายเท่านั้น

                ตัวอย่างของภาพที่ถ่ายในเวลาเดียวกัน แต่ให้ความรู้สึกเป็นภาพ “ส่วนตัว” หรือภาพ “สแน็ปช็อต”  กับภาพที่ให้ความรู้สึกถึงการสื่อสารที่เป็น “สากล” เช่น ภาพหญิงสาวในร้านกาแฟด้านล่างนี้ ทั้งสองภาพนี้ถ่ายในระยะเวลาห่างกันไม่เกิน 2 นาที ตำแหน่งที่นั่งก็เป็นที่เดิม ภาพแรกเป็นการถ่ายภาพ “เล่นๆ” เหมือนการถ่ายภาพในเวลาเดินทางท่องเที่ยวทั่วไป แต่เมื่อถือถ้วยกาแฟและชำเลืองสายตามองไปที่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ก็กลายเป็นภาพสต็อกที่ขายดีขึ้นมาทันที เนื่องจากเป็นการถ่ายภาพโดยมีแนวคิดเกี่ยวกับ “การสื่อสาร เทคโนโลยี ความทันสมัย ไลฟ์สไตล์ การทำงาน การพักผ่อน ฯลฯ”  อยู่ในภาพเพิ่มเติมเข้ามาด้วย ซึ่งภาพถ่ายลักษณะนี้เป็นที่ต้องการของไมโครสต็อกจำนวนมาก และแทบจะรับประกันได้ว่า มีโอกาสเป็น “ภาพขายดี” คือมียอดดาวน์โหลดสูงอย่างแน่นอน

 

 

                ภาพตัวอย่างอีกชุดหนึ่ง ซึ่งถ่ายตัวแบบคนเดียวกัน ระยะเวลาห่างกันเพียงสองสามนาที เป็นการถ่ายภาพกันเล่น ๆ ในครอบครัวตามปกติ ภาพแรกนั้น ถ้าในฐานะพ่อหรือแม่ของเด็กอาจจะชอบภาพนี้ เพราะเด็กดูน่ารักและน่าขบขันในท่าทางประหลาด ๆ ที่แสดงออก แต่สำหรับการเป็นภาพสต็อกแล้ว ภาพนี้ยังไม่เข้าเกณฑ์ที่จะเป็นได้ เนื่องจากองค์ประกอบของภาพยังขาด ๆ เกิน ๆ รวมทั้งคุณภาพของแสงและเงาก็ยังดูไม่ลงตัวในแบบภาพถ่ายสต็อก แต่ภาพถัดมา แม้ท่าทางที่เด็กทารกแสดงออกจะไม่หวือหวาเหมือนภาพแรก แต่องค์ประกอบของภาพทุกอย่างลงตัว แสงและเงาก็ตรงตามสไตล์ของภาพถ่ายสต็อก ภาพที่ถ่ายในเวลาใกล้ ๆ กัน ภาพหนึ่งจึงเป็นได้เพียงภาพ “สแน็ปช็อต” ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็น “ภาพสต็อก” ที่ขายอยู่ในไมโครสต็อกชั้นแนวหน้าอย่าง Shutterstock

 

 อ่านบทความต่อเนื่องจากบทความนี้ ตอนที่ 3 ได้ ที่นี่